การตอนกิ่ง (Layering) การตอนกิ่ง (Layering) การตอนกิ่ง หมายถึง วิธีการทำให้กิ่งพืชออกรากในขณะอยู่ติดกับต้นแม่ เมื่อกิ่งตอนนั้นออกรากดีแล้ว จึงตัดไปปลูกต่อไป การตอนกิ่งเป็นการตัดท่อลำเลียงอาหารของพืชส่วนท่อน้ำยังมีอยู่ตามปกติ จึงทำให้กิ่งที่ทำการตอนได้รับน้ำอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กิ่งตอนสดอยู่เสมอจนกว่าจะออกราก การออกรากของกิ่งตอน จะขึ้นอยู่กับความชื้น การถ่ายเทอากาศ และระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ถ้าปล่อยให้ดินหรือวัสดุหุ้มกิ่งแห้งโดยมิได้ดูแล ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดรากได้เช่นกัน ดังนั้น ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดในการตอนกิ่ง ควรเป็นฤดูฝน การตอนกิ่ง ใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะพืชบางชนิดที่ไม่สามารถออกรากได้โดยใช้วิธีตัดชำ แต่ออกรากได้โดยวิธีตอนกิ่ง สามารถทำได้ง่ายทั้งกลางแจ้งและในเรือนเพาะชำ นอกจากนี้ กิ่งตอนยังมีจำนวนรากมากกว่ากิ่งตัดชำ เมื่อนำไปปลูก จึงมีโอกาสตั้งตัวได้เร็วและมีเปอร์เซ็นต์การตายน้อยกว่ากิ่งตัดชำ ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พืชต้นใหม่ที่ได้จากการตอน จะมีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ย จึงสะดวกต่อการดูแลปฏิบัติบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะไม้ประดับ จะได้ทรงพุ่มที่สวยงาม เป็นต้น แต่กิ่งตอนมีข้อเสีย คือ พืชที่นำไปปลูกเมื่อโตเต็มที่จะล้มง่าย เพราะไม่มีรากแก้ว ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตอนกิ่ง 1) การทำให้เกิดการสะสมอาหารและสารบางชนิดที่จำเป็นต่อการงอกราก ในบริเวณที่ทำการตอน โดยวิธีการทำให้กิ่งเกิดแผล เพื่อตัดท่อลำเลียงอาหารของพืชในส่วนอื่นๆ จึงเกิดการสะสมอาหารและสารบางอย่างขึ้นเหนือแผลที่ทำการตอน 2) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการงอกรากของพืช เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และแสงสว่าง 3) การดูแลรักษา ควบคุมความชื้นหรือการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย อันเกิดจากศัตรูอื่นๆ เช่น มด แมลง สัตว์เลี้ยง เป็นต้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่ง 1) มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์ (Cutter) หรือมีดติดตาต่อกิ่ง 2) ถุงพลาสติกขนาด 2x4 นิ้ว หรือ 3x5 นิ้ว 3) วัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น กาบมะพร้าว ถ่านแกลบหรือขุยมะพร้าว 4) เชือกมัดวัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น เชือกฟาง 5) ฮอร์โมนเร่งราก รูปแบบการตอนกิ่ง มีหลายวิธี ที่นิยมกันได้แก่ 1) การตอนกิ่งในอากาศ (Air Layering) 2) การตอนกิ่งแบบฝังยอด (Tip Layering) 3) การตอนกิ่งแบบฝังกิ่งให้ยอดโผล่พ้นดิน (Simple Layering) 4) การตอนกิ่งแบบงูเลื้อย (Compound Layering) 5) การตอนกิ่งแบบขุดร่อง (Trench Layering) 6) การตอนกิ่งแบบสุมโคน (Mound or Stool Layering) 1) การตอนกิ่งในอากาศ (Air Layering) การตอนกิ่งในอากาศ โดยเฉพาะแบบควั่นกิ่ง เหมาะสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบ โมก โกสน แสงจันทร์ เล็บครุฑ ฯลฯ และไม้ผลบางชนิด เช่น มะม่วง ลำไย มังคุด มะเฟือง ฯลฯ เป็นต้น มีขั้นตอน ดังนี้ (1) เลือกกิ่งที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี หรืออยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งจะออกรากได้ดีกว่ากิ่งที่มีอายุมาก และควรเป็นกิ่งกระโดงหรือกิ่งน้ำค้าง ที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง (2) ควั่นเปลือกกิ่ง ความยาวของรอยแผล ประมาณเส้นรอบวงของกิ่ง ทั้งด้านบนและล่างของกิ่ง แล้วลอกเอาเปลือกออกและขูดเยื่อเจริญที่เป็นเมือกลื่นๆ รอบกิ่งออกให้หมด (3) นำตุ้มตอน (ขุยมะพร้าวเก่าที่แช่น้ำจนอิ่มตัว แล้วบีบน้ำออกพอหมาดๆ อัดลงในถุงพลาสติกแล้วผูกปากถุงให้แน่น) มาผ่าตามความยาวแล้วนำไปหุ้มรอยแผลของกิ่งตอน มัดด้วยเชือกทั้งบนและล่างรอยแผลที่ควั่น (4) เมื่อกิ่งตอนงอกรากซึ่งจะเกิดตรงบริเวณรอยควั่นด้านบน และรากเริ่มแก่เป็นสีเหลือง หรือมีสีน้ำตาล ปลายรากมีสีขาวและมีจำนวนรากมากพอ จึงตัดกิ่งตอนไปชำหรือปลูกได้ (5) ตัดกิ่งตอนไปชำในภาชนะ ในกระถางหรือถุงพลาสติก เพื่อรอการปลูกต่อไป 2) การตอนกิ่งแบบฝังยอด (Tip Layering) การตอนกิ่งแบบนี้ รากจะออกตรงบริเวณใกล้กับยอดที่นำฝังลงดิน เหมาะกับพืชบางชนิด เช่น ต้นประทัดจีน มีขั้นตอน ดังนี้ (1) ใช้เสียมหรือพลั่วกาบอ้อย ขุดดินให้เป็นหลุมลึก ประมาณ 7 – 8 เซนติเมตร (2) สอดปลายยอดเข้าไปในหลุม แล้วกลบดินทับ (3) รดน้ำทุกวัน และดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นบดบังแสง (4) ประมาณ 30 – 45 วัน เมื่อยอดใหม่โผล่ขึ้นมาจากดิน จะมีราก พร้อมที่จะย้ายปลูกได้ทันที 3) การตอนกิ่งแบบฝังกิ่งให้ยอดโผล่พ้นดิน (Simple Layering) การตอนกิ่งแบบนี้ เหมาะสำหรับพืชที่มีกิ่งยาวและมีลักษณะดัดโค้งได้ง่าย เช่น มะลิชนิดต่างๆ เป็นต้น มีขั้นตอน ดังนี้ (1) เลือกกิ่งที่มีอายุมากกว่า 1 ปี (2) ทำแผลให้เกิดขึ้นโดยการบิดให้แตกหรือใช้มีดปาด (3) โน้มกิ่งลงหาพื้นดิน แล้วกลบดินบริเวณบางส่วนของกิ่ง โดยให้ยอดโผล่ขึ้นเหนือดิน ยาวประมาณ 15 – 30 เซนติเมตร (4) ใช้ไม้ปัก ผูกมัดยอดให้ตรง เพื่อให้รากเกิดขึ้นเร็วบริเวณกิ่งที่กลบดิน (5) รดน้ำทุกวัน และดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นบดบังแสง (6) ประมาณ 50 - 60 วัน จะมีรากเกิดขึ้นบริเวณที่เป็นแผล พร้อมที่จะย้ายปลูกได้ทันที 4) การตอนกิ่งแบบงูเลื้อย (Compound Layering) การตอนกิ่งแบบนี้ คล้ายกับวิธีที่ 3 เหมาะกับชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น มะลิ เล็บมือนาง การเวก พลูชนิดต่างๆ ตีนตุ๊กแก และไม้ผลชนิดต่างๆ เช่น องุ่น มันเทศ พริกไทย เป็นต้น มีขั้นตอนดังนี้ (1) เลือกกิ่งยาวและมีลักษณะดัดโค้งได้ง่าย แบ่งเป็นตอน ๆ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร (2) ใช้มีดปาดให้เกิดแผล แล้วกลบดินทับ เป็นตอน ๆ ตลอดความยาวของกิ่ง (3) รดน้ำทุกวัน และดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นบดบังแสง (4) ประมาณ 30 – 45 วัน เมื่อยอดใหม่โผล่ขึ้นมาจากดิน จะมีรากพร้อมที่จะย้ายปลูกได้ทันที 5) การตอนกิ่งแบบขุดร่อง (Trench Layering) การตอนกิ่งแบบนี้ เหมาะสำหรับไม้ผลเมืองหนาวบางชนิด เช่น ท้อ สาลี่ และเชอรี่ เป็นต้น มีขั้นตอน ดังนี้ (1) ขุดร่องลึก ประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อเตรียมสำหรับโน้มกิ่งไว้ก่อน (2) เมื่อกิ่งต้นแม่ เริ่มแตกยอดอ่อน ให้โน้มกิ่งขนาดติดกับผิวหน้าดิน โดยใช้ตะขอเหล็กเส้น รูปตัว ยู (U) ปักยึดโคนกิ่งไว้ ให้กิ่งนอนราบกับพื้นร่องที่เตรียมไว้ (3) ตัดปลายกิ่งออกเล็กน้อย แล้วใช้ดินร่วนกลบให้หนา ประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร (4) รดน้ำทุกวัน และดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นบดบังแสง (5) เมื่อตากิ่งเริ่มแตกยอดพ้นผิวดินที่กลบครั้งแรก ให้กลบดินเพิ่มขึ้นอีก และต้องรีบกลบก่อนที่ยอดจะเริ่มคลี่ใบ (6) ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ ให้กลบดินแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ไป จนกว่าจะแน่ใจว่า บริเวณของกิ่งที่แตกยอดนั้น ไม่ได้รับแสงแดด การกลบดินแต่ละครั้งให้กลบประมาณ ½ ของยอดที่โผล่ออกมาพ้นดิน (7) การเกิดราก จะเกิดขึ้นที่บริเวณฐานของกิ่งที่แตกยอดใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 50 - 60 วัน (8 ) การย้ายปลูก ให้ขุดเอาดินที่กลบออก แล้วตัดกิ่งออกเป็นท่อน ๆ ตามจำนวนต้นที่เกิดใหม่ นำไปชำในถุงดำ ดูแลรักษา จนกว่าต้นสมบูรณ์ดี จึงนำไปปลูกต่อไป 6) การตอนแบบสุมโคน (Mound or Stool Layering) การตอนกิ่งแบบนี้ จะต้องตัดต้นพืชที่ต้องการออกให้เหลือสั้น ติดผิวดิน ในขณะที่ต้นพืชอยู่ในระยะพักตัว ส่วนมากทำกับต้นพืชที่มีกิ่งแข็งแรง ไม่สะดวกต่อการโน้มกิ่งลงมายังพื้นดินหรือตัดกิ่งได้ยาก แต่มีความสามารถที่จะแตกกิ่งก้านจากต้นตอคอดิน พืชที่นิยมทำส่วนมากเป็นไม้ผล เช่น พุทรา แอปเปิ้ล ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น มีขั้นตอน ดังนี้ (1) เมื่อตัดต้นที่ต้องการออกแล้ว จะสังเกตเห็นตามที่โคนต้น เริ่มแตกเป็นต้นอ่อน (2) เมื่อต้นอ่อนที่เกิดใหม่ ยาวประมาณ 6 – 12 เซนติเมตร ใช้ดินร่วนสุมโคน ประมาณ ½ ของยอดที่เกิดใหม่ (3) เมื่อต้นสูง ประมาณ 25 เซนติเมตร ให้สุมโคนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เมื่อ กิ่งยาวประมาณ 50 เซนติเมตร (4) รดน้ำทุกวัน และดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นบดบังแสง (5) หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงตัดกิ่งไปปลูกหรือชำ โดยตัดให้ชิดโคนต้นและมีรากติดไปด้วยให้มากที่สุด (6) เมื่อตัดกิ่งไปแล้ว จะต้องเอาดินที่สุมโคนออก ให้ถึงต้นตอเดิม เพื่อให้ตอเดิมแตกยอดใหม่อีก และทำการสุมโคนต่อไปเมื่อต้องการต้นใหม่ www.workbythai.com อ่านต่อ>>> Share Tweet Pin Share